ReadyPlanet.com
ค้ำประกัน.. ผู้ค้ำเป็นลูกหนี้ลำดับรอง ถูกฟ้องทีหลังลูกหนี้จริงหรือ?

 ค้ำประกัน.. ผู้ค้ำเป็นลูกหนี้ลำดับรอง ถูกฟ้องทีหลังลูกหนี้จริงหรือ?

 

หลายๆคนคงเคยเป็นผู้ค้ำประกัน กำลังเป็นอยู่ และกำลังจะเป็น สำหรับผู้ที่เคยเป็นและผ่านพ้นมาได้โดยลูกหนี้ไม่เบี้ยวหนี้ก็ขอแสดงความยินดีด้วย

ส่วนผู้ที่กำลังเป็นผู้ค้ำประกันก็คงหวาดเสียวอยู่ว่าลูกหนี้จะเบี้ยวหนี้มั้ย

ส่วนผู้ที่กำลังถูกขอร้องให้เป็นผู้ค้ำประกันคงคิดหาหนทางอยู่ว่าจะปฏิเสธอย่างไร

 

ส่วนใหญ่แล้วผู้ค้ำประกันแต่ละคนที่มาเป็นผู้ค้ำก็เพราะความเกรงใจลูกหนี้ที่มาขอร้อง

เช่นลูกหนี้จะซื้อรถแล้วก็เป็นเพื่อนกันมาขอให้ช่วยค้ำ เพื่อนก็คิดว่าอยากมากถ้าลูกหนี้เบี้ยวหนี้จริง ไฟแนนซ์ก็มายึดรถหรือยึดบ้าน ความเดือดร้อนคงมาไม่ถึงตัวเองหรอกก็เซ็นต์ๆให้ไป

 

เราลองมาดูแง่มุมทางกฎหมายว่าผู้ค้ำประกันเป็นลูกหนี้ลำดับรอง ถูกฟ้องทีหลังลูกหนี้จริงหรือไม่

 

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.)มาตรา 680 วางหลักไว้ว่า

“ ค้ำประกันคือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น 

อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”

นอกจากนี้ ปพพ.มาตรา 690 ยังวางหลักไว้ว่า 

“ถ้าเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันไซร้ เมื่อผู้ค้ำร้องขอ ท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องให้ชำระหนี้เอาจากทรัพย์ซึ่งเป็นประกันนั้นก่อน”

 

เมื่ออ่านเนื้อหากฎหมายข้างต้นแล้วก็ดูเหมือนจะสบายใจได้ระดับหนึ่งว่าผู้ค้ำประกันเป็นลูกหนี้ลำดับรอง จะถูกฟ้องก็ต่อเมื่อเจ้าหนี้ยึดทรัพย์ลูกหนี้ไม่ได้แล้วจึงค่อยมาฟ้องเรียกเอาจากผู้ค้ำ

 

แต่..ช้าก่อน

 

ยังมี ปพพ.มาตรา 691 วางหลักไว้ว่าถ้าผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ ท่านว่าผู้ค้ำย่อมไม่มีสิทธิในมาตรา 690

 

โอว..พระเจ้า!

 

แล้วจะมีผู้ค้ำสักกี่คนที่จะรู้หรืออ่านแล้วเข้าใจว่าสัญญาค้ำประกันที่ตนเองเซ็นต์นั้นมีประโยคที่ว่า “ผู้ค้ำประกันยินดีรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้” แล้วบอกว่าฉันไม่เซ็นต์ขอเอาประโยคนี้ออกก่อน

 

ลองนึกภาพดูว่าเพื่อนของเราตั้งแต่รู้จักกันมามีความรับผิดชอบดีมาก หน้าที่การงานก็ดี ไม่มีทางเบี้ยวหนี้แน่ๆ เราก็เซ็นต์ค้ำประกันให้ แล้ววันหนึ่งเพื่อนได้รับอุบัติเหตุเสียชีวิต (ซึ่งเดี๋ยวนี้ดูจากข่าวแล้วคนเราเสียชีวิตกันง่ายเหลือเกิน) หรือดีหน่อยไม่เสียชีวิตแต่พิการทำงานไม่ได้ไม่มีเงินใช้หนี้

 

ถามว่าเจ้าหนี้จะรอฟ้องลูกหนี้ก่อนแล้วค่อยฟ้องเรามั้ย?

คำตอบคือไม่..เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้และผู้ค้ำพร้อมกันในฐานะลูกหนี้ร่วม

 

นี่แหละเข้าตำราสำนวนไทยโบราณซึ่งใช้ได้ดีในสถานการณ์นี้นั่นคือ

“เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง เอากระดูกแขวนขอ”

 

ปัจจุบันมีการแก้ปัญหานี้ได้โดยการโอนความเสี่ยงภัยไปให้บริษัทประกันเรียกว่า “การประกันสินเชื่อ”

หากลูกหนี้เสียชีวิตหรือพิการ บริษัทประกันจะเข้ามารับผิดชอบหนี้ทั้งหมด ดังนั้นผู้ค้ำก็ไม่เดือดร้อน ซึ่งหลายๆองค์กรที่มีการกู้เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ที่ปล่อยกู้ให้สมาชิกก็มีการทำประกันแบบนี้

 

นอกจากนี้หากท่านเองเป็นเจ้าหนี้รายบุคคลเองที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ท่านก็สามารถให้ลูกหนี้ของท่านทำประกันชีวิตหรือประกันพิการแล้วยกเงินประกันให้ท่านเพื่อใช้หนี้ได้เช่นกัน ประหยัดเวลา ประหยัดเงิน ไม่ต้องไปฟ้องร้องซึ่งกว่าจะชนะได้เงินมาก็หลายปี (เจ้าหนี้บางท่านไม่ได้ใช้ทรัพย์สินซึ่งเป็นทรัพย์สินจำนองตามกฎหมายแพ่งพาณิชย์ ดังนั้นจะใช้สิทธิของบุริมสิทธิเหนือทรัพย์มายึดทรัพย์ลูกหนี้ทันทีไม่ได้)

 

หากท่านมีข้อสงสัยหรือต้องการคำแนะนำก็สอบถามมาได้

ประภัสสร สริวัฒน์; Finance and Law

Email: finkeyadvisory@gmail.com

www.finkeycorporate.com, www.finkey.net

 

 

 

 







Copyright © 2013 All Rights Reserved.
http://www.hitwebcounter.com/htmltutorial.php